นิทานชาดก กัณหชาดก : คนโกงวัว

นิทานชาดก กัณหชาดก คนโกงวัว

เหตุที่ตรัสชาดก กัณหชาดก : ทรงปรารภการทำกิจของพระองค์ที่ไม่มีใครสามารถทำได้ เช่นการไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ การเปิดโลกทั้งสามให้เห็นซึ่งกันและกันคือ โลกมนุษย์ โลกสวรรค์ และนรกในวันมหาปวารณา (ออกพรรษา)

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี

มีหญิงชราคนหนึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการแบ่งห้องให้คนเดินทางมาเข้าพัก วันหนึ่งคนเดินทางได้ให้ลูกวัวสีเหมือนดอกอัญชันแก่หญิงชราเพื่อเป็นค่าตอบแทน หญิงชรารู้สึกรักและถูกชะตากับลูกวัวตัวนี้มาก จึงเลี้ยงดูมันอย่างดีเหมือนกับเป็นลูกคนหนึ่งของแกเลยทีเดียว และตั้งชื่อให้มันว่า “อัยยิกากาฬกะ” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “กัณหะ

เมื่อเจ้าวัวกัณหะโตเป็นหนุ่ม มันได้รู้สำนึกบุญคุณหญิงชราที่แม้จะยากจนแต่ก็เลี้ยงดูมันมาอย่างดี มันจึงคิดตอบแทนคุณหญิงชราด้วยการไปรับจ้างลากของ

เนื่องจากมันเป็นวัวงาน แข็งแรง อดทน มีกิริยาเรียบร้อย ผิดกับวัวทั่วไป จึงมีคนว่าจ้างมันอยู่เสมอ และเด็กๆ ก็ชอบมาเล่นกับมัน 

วันหนึ่ง พ่อค้าเกวียนต่างเมืองขับเกวียนห้าร้อยเล่มมาติดหล่มอยู่ที่ท่าน้ำแห่งหนึ่ง วัวที่เทียมเกวียนมาไม่สามารถจะลากเกวียนไปได้ เขาจึงปลดวัวออกแล้วเอาเกวียนห้าร้อยเล่มผูกเข้าด้วยกัน เอาวัวห้าร้อยคู่ไปฉุด ก็ยังไม่สามารถฉุดขึ้นได้

พอดีขณะนั้น เจ้าวัวกัณหะเดินไปแถวนั้น พ่อค้าเห็นเข้าก็รู้ว่าเป็นวัวชั้นดี สามารถจะลากเกวียนห้าร้อยเล่มขึ้นมาจากหล่มได้ แต่ไม่รู้ว่าเป็นวัวของใคร จึงถามคนเลี้ยงวัวบริเวณนั้น

“ลุงๆ วัวตัวนี้เป็นวัวของใครหรอ ฉันจะจ้างมันไปลากเกวียนหน่อย”

“อ๋อ เจ้าของมันไม่ได้อยู่แถวนี้หรอก แต่เจ้ากัณหะมันฉลาด เจ้าไปคุยกับมันได้เลย” คนเลี้ยงวัวตอบ

“เอายังงั้นนะ” พ่อค้าไม่ค่อยแน่ใจ แต่ก็เดินไปที่เจ้าวัวหนุ่ม

“นี่เจ้าวัว ข้าจะจ้างเจ้าให้ไปลากเกวียนห้าร้อยเล่มขึ้นมาจากหล่มหน่อย ถ้าเจ้าลากขึ้นมาได้ ข้าจะให้เงิน หนึ่งพัน”

‘…ถ้ายายได้เงินหนึ่งพัน คงไม่ต้องลำบากไปอีกนาน’ วัวกัณหะคิดในใจ แล้วก็เดินตามพ่อค้าไปยังที่เกิดเหตุ

หลังจากเทียมเกวียนเสร็จแล้ว เจ้าวัวหนุ่มก็เริ่มลากเกวียนทั้งห้าร้อยเล่มอย่างสุดแรงกำลัง ท่ามกลางเสียงเชียร์ของคนที่มามุงดู

‘โอ้ หนักไม่ใช่เล่นเลยนะเนี่ย แต่เพื่อยาย เราต้องทำให้ได้’ วัวกัณหะคิด

“เอ้าพี่วัว สู้ๆ พี่วัวทำได้แน่นอน” เด็กๆ เชียร์

“จะถึงแล้วเจ้าวัว อีกนิดเดียวๆ” ผู้ใหญ่ก็เอาใจช่วย

“เฮ้ ขึ้นแล้วๆ มาแล้วๆ” ทั้งเด็กและคนโตโห่ร้องเสียงดัง

เมื่อลากเกวียนขึ้นมาได้ทั้งหมดแล้ว พ่อค้าจึงให้ค่าตอบแทนแก่วัวกัณหะ

“หึหึ เก่งจริงๆ เจ้านี่ เอ้า นี่ค่าจ้าง” พ่อค้าพูดพร้อมกับเอาเงินเพียงห้าร้อย ห่อผ้าผูกติดกับคอให้มัน

ฝ่ายวัวกัณหะ แม้จะไม่เคยเห็นเงินหนึ่งพันมาก่อน แต่มันรู้ว่าเงินหนึ่งพันต้องหนักกว่านี้มันจึงยังไม่ไปไหน แต่ยืนขวางทางพ่อค้าพร้อมกับมองหน้าเตรียมเอาเรื่อง

พ่อค่าเห็นท่าไม่ดีจึงรีบหัวเราะกลบเกลื่อน

“อะ ฮ่าๆ เจ้านี่ฉลาดจริงๆ เอ้านี่เงินที่เหลือ แหม ล้อเล่นหน่อยเดียว ทำจริงจังไปได้”

หลังจากได้เงินครบแล้ว วัวกัณหะรีบวิ่งกลับบ้านไปหาหญิงชราทันที เมื่อหญิงชราเห็นเจ้าวัวท่าทางอิดโรย ก็รีบเข้ามาเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ เด็กๆ ต่างแย่งกันเล่าวีรกรรมของเจ้าวัวให้นางฟัง

“โถ ลูกวัวกัณหะ เจ้าไม่ต้องทำขนาดนี้ก็ได้ เหนื่อยแย่ละซี…”

หลังจากวันนั้นหญิงชราก็ได้นำเงินหนึ่งพันไปทำทุนสร้างเนื้อสร้างตัวจนอยู่สุขสบายกับเจ้าวัวเรื่อยมา

ข้อคิดจากชาดก : กัณหชาดก
1. ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี
2. คนไม่ดีมักขี้โกง และชอบนึกว่าคนอื่นไม่รู้เท่าทัน

ประชุมชาดก 
หญิงชราในครั้งนั้น ได้เป็น ภิกษุณีอุบลวรรณา
โคอัยยิกากาฬกะในครั้งนั้นได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นิทานชาดก กัณหชาดก คนโกงวัว