นิทานชาดก นักขัตตชาดก : รอฤกษ์ ดีไหม

ทานชาดก นักขัตตชาดก

เหตุที่ตรัสชาดก นักขัตตชาดก : ทรงปรารภอาชีวกคนหนึ่งที่ทำลายพิธีมงคลสมรสด้วยการบอกว่าฤกษ์ไม่ดี เรื่องมีอยู่ว่า มีชายหนุ่มบ้านนอกนัดวันจะไปสู่ขอสาวในเมืองสาวัตถี แต่เมื่อถึงวันนัด พอดีมีอาชีวกะคนคุ้นเคย ได้เข้ามาหา ชายหนุ่มจึงถามดูฤกษ์ยาม อาชีวกะนึกโกรธอยู่แล้วที่ไม่ไปปรึกษาแต่แรก จึงบอกว่าวันนี้ฤกษ์ไม่ดี หากทำการมงคลจะพินาศใหญ่หลวง ชายหนุ่มนั้นจึงยังไม่ไป แต่ไปอีกทีในวันรุ่งขึ้น ฝ่ายพ่อเจ้าสาวเมื่อเห็นว่าเจ้าบ่าวผิดนัดก็โกรธมากแล้วยกเจ้าสาวให้คนอื่นไป ทั้งสองฝ่ายจึงทะเลาะวิวาทกันยกใหญ่ ในที่สุดฝ่ายชายก็ต้องยอมแพ้และกลับบ้านไป

ในอดีตกาล  เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี
ครอบครัวชายหนุ่มจากตระกูลในเมืองได้ไปสู่ขอหญิงสาวชาวชนบท นัดวันกันไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะจัดงานแต่งงานกันในวันนั้นวันนี้
เมื่อถึงวันกำหนดการแต่งงาน ชายหนุ่มกำลังจะเดินทางเพื่อไปงานแต่ง ที่บ้านเจ้าสาว พอดีมีอาชีวกผู้ที่คุ้นเคยกับครอบครัวชายหนุ่มเดินผ่านมา

“พวกเจ้าจะไปไหนกันรึ” อาชีวกถาม

“อ๋อท่านอาจารย์ พวกข้าจะพาลูกชายไปแต่งงานที่บ้านนอกน่ะครับ ..แต่ไหนๆ ท่านก็มาแล้ว ช่วยดูฤกษ์ให้หน่อยสิครับว่าแต่งวันนี้จะดีไหม” พ่อของชายหนุ่มตอบ

อาชีวก นึกไม่พอใจอยู่แล้วที่ไม่มาปรึกษาตนแต่แรก จึงตอบไปว่า

“วันนี้ฤกษ์ไม่ดี ขืนแต่งไปก็อยู่กันไม่ยืดหรอก”

“ว่าไงนะ ท่านอาจารย์! ท่านพูดจริงหรือนี่” ชายหนุ่มตะโกนถาม

“จริงสิ หรือถ้าไม่เชื่อก็ลองดู แต่ฤกษ์จะดีก็ต้องพรุ่งนี้แน่ะ รับรองอยู่กันยาว” อาชีวกพูดต่อ

“ถ้าอย่างนั้น เรารอไปก่อนนะลูก พรุ่งนี้เราค่อยไปกัน” ผู้เป็นพ่อปลอบลูกชาย

วันนั้นจึงไม่มีขบวนขันหมากไปที่บ้านหญิงสาว ผู้ซึ่งเตรียมงานไว้เรียบร้อยแล้ว

ฝ่ายพ่อแม่ของหญิงสาวเห็นว่าฝ่ายชายไม่มาแน่ๆ จึงยกลูกสาวให้ครอบครัวอื่นไป

วันรุ่งขึ้นครอบครัวชายหนุ่มจึงยกขบวนขันหมากไปยังบ้านหญิงสาว

“แกมาทำไมเอาป่านนี้” พ่อฝ่ายหญิงถาม

“ขอโทษทีจ้ะ เมื่อวานนี้หมอดูทักว่าฤกษ์ไม่ดี พวกฉันเลยมากันในวันนี้ …ไหนล่ะเจ้าสาว” พ่อฝ่ายชายตอบพร้อมกับถามถึงว่าที่ลูกสะใภ้

“ข้ายกให้กับคนอื่นไปแล้ว คนอะไรนัดไม่เป็นนัด ไปๆ กลับกันไปได้แล้ว” พ่อฝ่ายหญิงตะโกนไล่

ส่วนฝ่ายชายก็ไม่ยอมกลับจึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น

พอดีมีชายหนุ่มบัณฑิตคนหนึ่งเดินผ่านมาได้ยินเสียงโต้เถียงกัน ก็พูดว่า

“ฤกษ์จะมีประโยชน์อะไร การได้เจ้าสาวก็ถือเป็นฤกษ์ดีอยู่แล้วไม่ใช่หรือ…?”

 

ข้อคิดจากชาดก : นักขัตตชาดก
1.อย่าเชื่อฤกษ์ยามจนพลาดงานสำคัญ
2.การถือฤกษ์ยามเป็นเรื่องของคนไม่ฉลาด เพราะคนฉลาดมักไม่รอฤกษ์ยาม แต่จะรีบกระทำการเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น

ประชุมชาดก
อาชีวก ได้เกิดเป็น อาชีวกในชาตินี้

ตระกูลทั้งสอง ได้เกิดเป็น ตระกูลทั้งสองในชาตินี้
ชายหนุ่มบัณฑิตได้เกิดเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทานชาดก นักขัตตชาดก