นิทานชาดก ภีมเสนชาดก : ความลืมตัวทำให้ชั่วช้า

เหตุที่ตรัสชาดก ภีมเสนชาดก : ทรงปรารภภิกษุผู้มักโอ้อวดรูปหนึ่งว่าตนเองสูงส่งด้วยชาติกำเนิด ด้วยโคตร ด้วยทรัพย์สินเงินทอง ทั้งที่ไม่เป็นความจริง

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติในนครพาราณสี
มีหนุ่มน้อยรูปร่างเตี้ย ค่อม อยู่คนหนึ่ง นามว่า จูฬธนุคคหบัณฑิต ได้เล่าเรียนสำเร็จวิชาศิลปะศาสตร์ 18 ประการ เป็นเลิศในวิชายิงธนู เมื่อเรียนจบเขาคิดจะเข้ารับราชการแต่เกรงว่าคงจะไม่มีใครเชื่อฝีมือเพราะรูปร่างที่เตี้ยกว่าใคร จึงคิดให้คนอื่นเป็นโล่บังหน้า ฝ่ายตัวเขาจะอาศัยเลี้ยงชีพอยู่เบื้องหลังไปพลางก่อน จากนั้นเขาแสวงหาคนที่มีรูปร่างดีอยู่พักใหญ่ ต่อมาได้พบหนุ่มรูปหล่อผู้หนึ่งนามว่าภีมเสน ซึ่งเป็นช่างทอหูก จึงได้ชักชวนและบอกแผนการให้ฟัง ภีมเสนเห็นว่าเป็นงานสบายไม่ต้องทำอะไร จึงตอบตกลง

ทั้งสองจึงไปเฝ้าพระราชาโดย ภีมเสน กราบทูลว่าเขาเป็นนายขมังธนู ส่วน จูฬธนุคคหบัณฑิต เป็นผู้ติดตาม เมื่อภีมเสนได้เข้ารับราชการ ได้เงินเดือนมาเมื่อไรก็นำมาแบ่งกับ จูฬธนุคคหบัณฑิต และงานต่างๆ จูฬธนุคคหบัณฑิต ก็รับทำแทนทุกครั้งไป

ต่อมาปรากฏว่ามีเสือร้ายเที่ยวรังควาญชาวบ้าน พระราชาจึงรับสั่งให้ภีมเสน ออกไปปราบเสือตัวนั้น ภีมเสนเล่าเรื่องให้จูฬธนุคคหบัณฑิตฟัง ยอดมือแม่นธนูก็บอกอุบายให้ โดยอุบายนั้นคือ บอกพวกชาวบ้านให้ถืออาวุธไปยังที่อยู่เสือ เมื่อชาวบ้านรุมทำร้ายเสือนั้นจนตายแล้วให้ภีมเสนออกไป แล้วพูดขู่ว่าใครกันที่ทำร้ายเสือตัวนี้ พระราชาตั้งใจจะจับเป็นมิใช่จับตาย เพียงเท่านี้ชาวบ้านก็จะกลัวพระราชอาญาแล้วก็จะบอกว่าพวกตนไม่เกี่ยว งานนี้ภีมเสนก็จะได้หน้าคนเดียว

ผลเป็นไปดังคาด งานนี้ภีมเสนได้รับพระราชทานรางวัลเป็นอันมาก และได้นำไปแบ่งกับจูฬธนุคคหบัณฑิตเช่นเคย

เมื่อภีมเสนได้รับพระราชโองการใดๆ ก็ไปปรึกษาจูฬธนุคคหบัณฑิตทุกครั้ง จนกระทั่งเขามีชื่อเสียงยศศักดิ์ มีเงินทองและบริวารมากขึ้น ทำให้เขาลืมตัว พูดจาหยาบคาย ดูหมิ่นจูฬธนุคคหบัณฑิตผู้อยู่เบื้องหลังว่าไม่ใช่ลูกผู้ชาย

ต่อมามีข้าศึกยกทัพมาล้อมกรุงพาราณสี พระราชารับสั่งให้เขาออกนำทัพสู้รบ ภีมเสนแต่งตัวเป็นพระราชานั่งอยู่บนช้างพระที่นั่ง แล้วให้จูฬธนุคคหบัณฑิตติดตามไปด้วย

เมื่อถึงสนามรบ ภีมเสนเพียงแค่ได้ยินเสียงกลองรบเท่านั้น ก็เริ่มสั่นสะท้าน กลัวตายอย่างที่สุดถึงกับปัสสาวะอุจจาระแตกบนหลังช้างนั่นเอง

นี่ภีมเสน ไหนว่าแกเก่งยังไงล่ะ เห็นข้าศึกเท่านั้นถึงกับกลั้นไม่อยู่เลยรึ” จูฬธนุคคหบัณฑิตเย้า แล้วพูดต่อ

ไม่ต้องกลัวหรอก เรายังอยู่ทั้งคน แกลงไปเถอะเราจะออกรบเอง” จูฬธนุคคหบัณฑิตไล่ให้ภีมเสนหลบไป แล้วไสช้างเข้าสู้รบกับข้าศึกจนข้าศึกแตกพ่าย จับตัวพระราชาผู้เป็นศัตรูไว้ได้แล้วไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสี

พระราชาทรงพอพระทัยยิ่งนัก ทรงพระราชทานทรัพย์และยศศักดิ์แก่เขาเป็นอันมาก นับแต่นั้นชื่อเสียงของจูฬธนุคคหบัณฑิตก็ได้เป็นที่รู้จัก และได้เข้ารับราชการในราชสำนักของพระเจ้าพาราณสีโดยไม่ต้องปิดบังตัวเองอีกต่อไป

ข้อคิดจากชาดก :
เมื่อได้ดีอย่าลืมตัว เพราะหากไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง (ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์) เราย่อมไม่ประสบความสำเร็จ และเมื่อใดที่เราลืมตัวจะต้องพบกับความพินาศย่อยยับอย่างแน่นอน

ประชุมชาดก ภีมเสนชาดก
ภีมเสน ได้เกิดเป็น ภิกษุผู้มักโอ้อวดรูปนั้น
จูฬธนุคคหบัณฑิต ได้เกิดเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า