นิทานชาดก ทุมเมธชาดก : พระราชาคิดฆ่าช้างเผือก

เหตุที่ตรัสชาดก ทุมเมธชาดก : ทรงปรารภความอิจฉาริษยาของพระเทวทัตที่มีต่อพระพุทธองค์

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้ามคธเสวยราชสมบัติในกรุงราชคฤห์

พระองค์มีช้างพระที่นั่งเชือกหนึ่ง เป็นพญาช้างเผือกที่มีลักษณะสมบูรณ์ด้วยลักษณะอันประเสริฐทุกประการ

วันหนึ่งมีงานมหรสพประจำปี พระองค์โปรดให้ประดับตกแต่งพระนครอย่างงดงามราวสรวงสวรรค์ แล้วทรงช้างพระที่นั่งเลียบพระนครตามขัตติยประเพณี

ฝ่ายพสกนิกรทั้งหลายที่เฝ้าชมพระบารมี เมื่อได้เห็นช้างพระที่นั่ง ก็พากันโสมนัสปรีดา ต่างก็ชื่นชมพรรณาถึงช้างเผือกเท่านั้น ว่างามอย่างนั้นอย่างนี้ มิได้สนใจพระราชาที่ประทับบนหลังช้างแม้แต่น้อย

เมื่อพระราชาประสบเหตุการณ์ดังนั้น ก็ทรงแค้นเคืองพระทัย มีจิตริษยาช้างเผือกของพระองค์เองและตั้งใจว่าจะฆ่าช้างเชือกนี้ให้ได้ จึงได้ตรัสถามควาญช้างว่า 

“ช้างตัวนี้ เจ้าฝึกดีแล้วรึ”

“ฝึกดีแล้วพระเจ้าข้า” นายหัตถาจารย์ทูลตอบ

“ข้าจะให้ช้างตัวนี้ขึ้นไปบนยอดเขาได้ไหม” พระราชาถามต่อ

“ได้พระเจ้าข้า” นายหัตถาจารย์ทูล

พระราชาจึงเสด็จลง แล้วให้นายหัตถาจารย์ขึ้นขี่ช้างไสขึ้นไปบนยอดเขา ส่วนพระองค์เสด็จขึ้นไปพร้อมกับเหล่าข้าราชบริพาร

เมื่อเสด็จถึงยอดเขาแล้ว พระราชาสั่งให้นายหัตถาจารย์กระตุ้นช้างให้หันหน้าสู่เหวลึก พลางตรัสว่า

“ให้มันยืน 3 ขาซิ”

ควาญช้างจึงส่งสัญญาณให้ช้างเผือกยืน 3 ขา ช้างเผือกก็ทำได้

“ให้มันยืน 2 เท้าหน้า เท่านั้น” พระราชาตรัสต่อ

ช้างเผือกก็ทำได้

“ให้ให้มันยืน 2 เท้าหลัง เท่านั้น”

ช้างเผือกก็ทำได้

“ถ้าอย่างนั้นลองให้มันยืนขาเดียว”

ช้างเผือกก็ทำได้

เมื่อช้างไม่ตกเหวตายดังประสงค์ พระราชาจึงรับสั่งต่อ

“ให้มันยืนบนอากาศ!!”

นายหัตถาจารย์จึงรู้ทันทีว่าพระราชาต้องการฆ่าช้างเผือกเชือกนี้ รู้สึกสลดใจเป็นอย่างยิ่ง จึงกระซิบที่ข้างหูของพญาช้างว่า

“พระราชาต้องการจะฆ่าท่าน ท่านไม่ควรจะอยู่เป็นพาหนะของเขาเลย หากท่านสามารถเหาะได้ จงพาเราเหาะไปยังนครพาราณสีเถิด”

พญาช้างได้ฟังดังนั้นก็ขึ้นไปยืนตระหง่านอยู่บนอากาศให้เห็นเป็นอัศจรรย์ นายหัตถาจารย์จึงทูลพระราชาว่า

“พญาช้างนี้ประกอบด้วยบุญฤทธิ์ สมควรเป็นพาหนะของกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการ ไม่สมควรแก่กษัตริย์บุญน้อยเช่นพระองค์เลย”

ว่าแล้วพญาช้างก็พาเหาะไปยังนครพาราณสี หยุดอยู่บนอากาศที่ท้องพระลานหลวง ประชาชนทั้งหลายพากันตื่นตะลึงในความอัศจรรย์พากันโจษจันว่าเป็นบุญของกษัตริย์ของพวกเขาแท้ๆ

พระราชาแห่งนครพาราณสีได้เสด็จออกมายังพระลาน แล้วตรัสกับนายหัตถาจารย์ว่า

“ถ้าพวกเจ้ามาเพื่อเรา จงลงมาที่พื้นดินเถิด”

พญาช้างจึงลงมายืนที่พื้นดิน นายหัตถาจารย์ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ

“ดีละ งั้นก็มาอยู่กับเราที่นี่เถอะ เราจะเลี้ยงดู ยกย่องพวกเจ้าอย่างดีที่สุด “ พระราชาตรัสด้วยความดีพระทัย

เมื่อรับพญาช้างเผือกไว้แล้ว พระองค์ทรงแบ่งราชสมบัติออกเป็น 3 ส่วน พระราชทานแก่พญาช้าง นายหัตถาจารย์ และพระองค์ คนละส่วน

ตั้งแต่นั้นมา พระองค์ก็ได้ครอบครองราชสมบัติในโลกทั้งหมด พระเจ้าพาราณสีเป็นใหญ่ในชมพูทวีปด้วยบุญญาธิการของพญาช้างเผือกเชือกนั้น

ข้อคิดจากชาดก : ทุมเมธชาดก
1.ผู้มีบุญน้อย เมื่อได้ของที่เลิศและประเสริฐสุด ย่อมไม่เห็นความสำคัญ ในที่สุดก็จะโยนทิ้งหรือทำลายเสียจนได้
2.คนไม่มีปัญญา ได้ของดีก็ไม่เห็นคุณค่า
3.ความอิจฉาริษยา เกิดได้แม้กับคนที่มีทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์

ประชุมชาดก
พระราชามคธในครั้งนั้น ได้เกิดเป็น พระเทวทัต
พระเจ้ากรุงพาราณสี ได้เกิดเป็น พระสารีบุตร
นายหัตถาจารย์ ได้เกิดเป็น พระอานนท์
พญาช้างเผือก ได้เกิดเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นิทานชาดก ทุมเมธชาดก