นิทานชาดก อนุสาสิกชาดก : สอนคนอื่นได้ ไยเจ้าไม่สอนตัว

เหตุที่ตรัสชาดก อนุสาสิกชาดก : ทรงปรารภภิกษุณีรูปหนึ่งที่ชอบพร่ำสอนคนอื่น แต่ตนเองไม่ประพฤติในสิ่งที่ตนสอน

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในนครพาราณสี

มีนกสาลิกาฝูงใหญ่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ นางนกตัวหนึ่งบินออกไปหากินตามซอกเขาในป่าลึกแต่ลำพัง มันได้พบข้าวเปลือกและเมล็ดถั่วเขียวจำนวนมากที่ตกหล่นจากเกวียนของชาวบ้าน จึงคิดอุบายกันท่าไม่ให้นกตัวอื่นไปหากินบริเวณนั้น โดยมันกลับมาบอกกับพวกว่า

“ขึ้นชื่อว่าทางใหญ่ในป่าลึก ตามซอกเขา ตามลำห้วยย่อมมีอันตรายมาก ทั้งช้าง ม้า และโคดุ ถ้าพวกท่านไม่สามารถจะบินหนีทันก็อย่าไปหากินบริเวณนั้นเลย”

พวกนกตัวอื่นฟังแล้วชักขยาด ไปกล้าบินไปหากินไกลๆ อีกเลย  

อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อนางนกกำลังหากินบริเวณนั้น ได้ยินเสียงล้อเกวียนผ่านมาก็วิ่งหนีไป แล้วหันกลับมาดู เมื่อเห็นว่าเกวียนยังอยู่ไกล ก็หยุดกินอาหาร ทันใดนั้นเอง มีเกวียนเล่มหนึ่งแล่นมาโดยเร็ว ทับนางนกจนกระดูกแหลก ตัวแยกเป็นสองเสี่ยง

เมื่อพญานกหัวหน้าฝูงเห็นบริวารขาดหายไป จึงสั่งบริวารให้บินสำรวจ พวกนกได้พบนางนกตัวนั้นตายอยู่ในทางเกวียน จึงนำความมาแจ้งแก่พญานก

หัวหน้าฝูงจึงให้โอวาทแก่บริวารว่า

“แม่นกตัวนั้นมันดีแต่สอนคนอื่น ไม่ให้ไปหากินบริเวณนั้น แต่มันหาทำตามไม่ ในที่สุดจึงต้องตายอย่างอนาถเช่นนี้ พวกเจ้าไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง จะไปหากินที่ไหนไม่ควรไปแค่ลำพัง และให้ระมัดระวังตัวอยู่เสมอ”

ข้อคิดจากชาดก : อนุสาสิกชาดก
1.ดีแต่สอนคนอื่น ไม่รู้จักสอนตัวเอง สักวันต้องพบความหายนะ
2.คนงก กลัวคนอื่นมาแย่งกิน สักวันก็ต้องตายเพราะความงกของตัวเอง
3.การเที่ยวไปคนเดียว ไม่มีเพื่อนไปด้วย เมื่อมีอันตรายย่อมไม่มีใครช่วยไว้ทัน

ประชุมชาดก
นางนกสาลิกา ได้เกิดเป็น ภิกษุณีรูปนี้
พญานกจ่าฝูง ได้เกิดเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นิทานชาดก อนุสาสิกชาดก