นิทานชาดก วรุณชาดก : ลำดับความสำคัญผิดชีวิตต้องเดือดร้อน

นิทานชาดก วรุณชาดก

เหตุที่ตรัสชาดก : ทรงปรารภพระติสสเถระบุตรกุฎุมพี ที่บำเพ็ญสมณธรรมโดยรีบเร่งเกินไป เพราะมัวแต่เกียจคร้านไม่มีความเพียร แะติดในรสอาหาร แต่เมื่อเห็นพระเพื่อนบรรลุเป็นพระอรหันต์กันหมดจึงอยากจะเป็นบ้าง จึงกลับมาทำความเพียรอย่างรีบเร่งในเวลาค่ำคืน ทำให้เผลอหลับกลิ้งตกลงมา กระดูกขาของท่านแตก ได้รับความเจ็บปวดมาก : นิทานชาดก วรุณชาดก

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติในนครพาราณสี
ณ เมืองตักกสิลา มีอาจารย์ทิศาปาโมกข์คนหนึ่ง เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง มีลูกศิษย์ ถึง 500 คน

วันหนึ่งลูกศิษย์ทั้งหลายได้เข้าป่าเพื่อไปหาฟืน หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นคนเกียจคร้าน ได้หลบจากพวกหนีไปนอนหลับอยู่ใต้ต้นกุ่ม

“แอบนอนสักงีบดีกว่า ตื่นมาค่อยหักกิ่งไม้จากต้นนี้ไปทำฟืน” ว่าแล้วก็ล้มตัวนอนลงหลับสนิท

เวลาผ่านไป เพื่อนๆหาฟืนกันได้จำนวนมากแล้วจึงพากันกลับ เห็นเจ้าคนขี้เกียจมาแอบหลับจึงสะกิดด้วยส้นเท้า

“เฮ้ย! มาแอบหลับอยู่ได้ ตื่นได้แล้วโว้ย” เพื่อนคนหนึ่งตะโกนพร้อมกับกระทืบลงกลางหลัง

“โอ๊ย! อ่าว เออๆๆๆ รู้แล้วน่า” เขางัวเงียปะติดปะต่อเรื่องราวหลังจากนอนหลับไปพักใหญ่ แล้วรีบตะลีตะลานปีนขึ้นไปหักกิ่งต้นกุ่มกิ่งหนึ่งเต็มแรง กิ่งไม้หักลงมาทิ่มตาข้างหนึ่งของเขาอย่างจังทำให้ได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส เอามือข้างหนึ่งปิดตาไว้ ข้างหนึ่งหักฟืนสดๆลงจากต้น รีบมัดแล้วแบกกลับโดยเร็ว ทิ้งฟืนสดทับฟืนแห้งของเพื่อนที่มากองไว้ก่อนหน้านี้อีกต่างหาก

ในวันนั้นเองมีคนมานิมนต์อาจารย์ไว้ว่าจะทำบุญบ้าน อาจารย์จึงสั่งลูกศิษย์ทั้งหลายว่าให้นอนแต่หัวค่ำแล้วรีบตื่นแต่เช้ามืดมาหุงหาอาหารก่อนที่จะเดินทางไปยังบ้านเจ้าภาพ

เมื่อพวกเขาตื่นแล้วก็รีบจัดแจงก่อไฟ ด้วยว่าเป็นเช้ามืดจึงมองอะไรไม่ถนัด จึงหอบเอาฟืนสดที่อยู่ด้านบนไปก่อไฟ ทำให้ไฟไม่ติดสักที จนกระทั่งสาย ได้พากันไปหาท่านอาจารย์

“นี่พวกเธอยังไม่ไปกันอีกหรือ” อาจารย์ถาม

“ขอรับท่านอาจารย์ พวกกระผมไม่ได้ไป” ศิษย์คนหนึ่งตอบ

“ทำไมละ เราสั่งพวกเจ้าไว้แล้วนี่” อาจารย์ซัก

“เมื่อวานเจ้าคนขี้เกียจไปหาฟืนกับพวกกระผม แล้วมันแอบไปนอนหลับ ทีหลังจึงรีบขึ้นไปหักกิ่งไม้สดหอบเอามาโยนไว้บนฟืนที่พวกผมหามา เมื่อเช้าพวกผมรีบขนฟืนมานึกว่าเป็นฟืนแห้ง จนสาย ไฟก็ยังไม่ลุกเลยขอรับท่านอาจารย์” ศิษย์สาธยายอย่างละเอียด

“เออ…สิ่งที่ควรทำ ก็ไม่ทำ สิ่งที่ไม่ควรทำก็รีบทำ แบบนี้แหละจึงเดือดร้อนกันหมด” อาจารย์สรุปในที่สุด

 

ข้อคิดจากชาดก : นิทานชาดก วรุณชาดก
จะทำสิ่งใดควรพิจารณาถึงความสำคัญว่าสิ่งใดควรทำก่อนควรทำหลัง หากไม่ลำดับความสำคัญให้ดีอาจเดือดร้อนได้ในภายหลัง

ประชุมชาดก
ลูกศิษย์ผู้ถึงแก่นัยน์ตาแตก ได้เกิดเป็น ภิกษุผู้กระดูกขาแตกในบัดนี้

ลูกศิษย์ที่เหลือ ได้เกิดเป็น พุทธบริษัท
อาจารย์ ได้เกิดเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นิทานชาดก วรุณชาดก