นิทานชาดก สัจจังกิรชาดก : คนไม่ใช่คน เพราะเป็นคนไม่รู้คุณคน

นิทานชาดก สัจจังกิรชาดก พระราชา อกตัญญู

เหตุที่ตรัสชาดก สัจจังกิรชาดก : เมื่อภิกษุสงฆ์ประชุมกันในธรรมสภา สนทนากันถึงโทษของพระเทวทัตว่า พระเทวทัตมิได้รู้คุณของพระศาสดา และยังจะพยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมิได้เกรงกลัวบาปกรรมใดๆ


ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติในนครพาราณสีพระราชกุมารของพระองค์นามว่า “ทุฏฐกุมาร” เป็นคนใจร้ายหยาบคาย อกตัญญู ชอบด่าว่าเฆี่ยนตีมหาดเล็กและคนใกล้ชิดโดยปราศจากความปราณีอยู่เสมอ จนทุกคนพากันเกลียดชัง วันหนึ่งท้าวเธอปรารถนาจะเล่นน้ำในแม่น้ำ แม้จะเห็นเมฆตั้งเค้าดำทะมึนมาแต่ไกล ก็ยังสั่งให้มหาดเล็กพาออกไปกลางแม่น้ำ 

ข้าราชบริพารได้ทีจึงวางแผนปล่อยพระองค์เสียกลางแม่น้ำนั้นแล้วกลับมาทูลต่อพระเจ้าพาราณสีว่าพระกุมารหายไปในเวลามืดฟ้ามัวฝน หาเท่าไรก็หาไม่เจอ

ฝ่ายทุฏฐกุมาร ถูกกระแสน้ำพัดไป เห็นท่อนไม้ท่อนหนึ่งจึงเกาะท่อนไม้นั้นลอยไปตามกระแสน้ำ

ในกาลนั้น เศรษฐีชาวเมืองพาราณสีผู้หนึ่งฝังทรัพย์ 40 โกฏิไว้ที่ฝั่งแม่น้ำ เพราะความเป็นห่วงทรัพย์ ตายไปจึงไปเกิดเป็นงูอยู่เหนือขุมทรัพย์

ยังมีอีกผู้หนึ่งฝังสมบัติไว้ตรงนั้นเหมือนกัน 30 โกฏิ เพราะความเป็นห่วงทรัพย์ ตายไปเกิดเป็นหนูอยู่ในที่นั้นเหมือนกัน

เมื่อพายุโหมกระหน่ำ น้ำเซาะเข้าไปถึงที่อยู่ของงูและหนู สัตว์ทั้งสองจึงต้องออกมาจากรู ว่ายตัดกระแสน้ำไปถึงท่อนไม้ที่พระราชกุมารเกาะอยู่ แล้วขึ้นไปเกาะบนขอนไม้นั้นด้วย

สามชีวิตอาศัยขอนไม้ลอยมาจนถึงต้นงิ้วต้นหนึ่ง ลูกนกแขกเต้ายังบินไม่ได้ตกลงมาอยู่ใต้ต้นงิ้ว จึงลอยไปเกาะขอนไม้ขอนนั้นด้วยอีก 1 ชีวิต

เมื่อลอยมาใกล้อาศรมฤาษี ฤาษีได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญของชายผู้หนึ่ง เมื่ออกมาดูเห็นทั้ง 4 ชีวิตกำลังจะจมน้ำตาย จึงว่ายน้ำเข้าไปลากขอนไม้ขึ้นมาบนฝั่ง พาไปยังบรรณศาลาแล้วก่อไฟให้ผิง แต่ให้สัตว์ผิงก่อน ด้วยเห็นว่ามีกำลังอ่อนแอกว่า จากนั้นจึงให้พระกุมารผิงต่อภายหลัง เวลาให้อาหารก็ให้แก่สัตว์ก่อนแล้วจึงให้พระกุมารทีหลัง

พระกุมารผู้มีนิสัยร้ายกาจรู้สึกแค้นเคืองฤาษีเป็นที่ยิ่ง ที่เห็นว่าฤาษีไม่ได้นับถือตน กลับไปยกย่องสัตว์เดรัจฉาน จึงผูกอาฆาตฤาษี แต่ยังไม่กล้าแสดงออกในเวลานั้น

เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 วัน จนพระกุมารและสัตว์ทั้งหลายมีเรี่ยวแรงดีแล้ว ทั้งหมดจึงได้ลากลับ

“พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านได้ช่วยชีวิตข้าพเจ้าไว้ หากท่านต้องการทรัพย์ จงไปที่แม่น้ำฝั่งโน้น แล้วร้องเรียก ‘ทีฆะ’ เถิด ข้าพเจ้าจะถวายทรัพย์ 40 โกฏิแก่ท่าน” เจ้างูร้องบอก

“หากท่านต้องการทรัพย์ จงเรียกข้าพเจ้าว่า ‘อุนทุระ’ ข้าพเจ้าจะถวายทรัพย์ตามที่ท่านต้องการ” เจ้าหนูปวารณา

“ส่วนข้าพเจ้านั้นไม่มีทรัพย์เลย แต่หากท่านต้องการข้าวสาลีแดงละก็ โปรดร้องเรียก ‘สุวะ’ ข้าพเจ้าจะบอกแก่ฝูงญาติให้ช่วยขนข้าวสาลีแดงมาถวายได้หลายเล่มเกวียน” ลูกนกแขกเต้ากล่าว

ฝ่ายพระราชกุมาร ยังเคืองฤาษีอยู่ แต่ก็พูดขึ้นพอเป็นพิธีว่า

“หากข้าพเจ้าได้ครองราชย์สมบัติแล้ว นิมนต์ท่านไปที่วังเถิด ข้าพเจ้าจะบำรุงท่านด้วยปัจจัยสี่ขอรับ”

เสร็จแล้วต่างพากันแยกย้ายไปยังที่อยู่ของตน

ต่อมาไม่นานพระราชกุมาร “ทุฏฐกุมาร” ก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าพาราณสี

เวลาผ่านไป ฤาษีต้องการจะทดลองว่าใครจะรู้จักบุญคุณของท่านกันแน่ จึงไปหางูก่อน ร้องเรียก “ทีฆะ” เพียงคำเดียวเท่านั้น งูก็เลื้อยออกมา กล่าวถวายทรัพย์ 40 โกฏิทันที แต่ฤาษีบอกเอาไว้ก่อน ยังไม่จำเป็นต้องใช้ แล้วเลยไปหาเจ้าหนู และนกแขกเต้า ทั้งหนูและนกแขกเต้าก็ทำเหมือนกัน

ฤาษีเดินทางต่อมาถึงในพระนคร พักอยู่ที่พระราชอุทยาน รุ่งขึ้นก็ออกบิณฑบาตในเมือง ขณะนั้นเองพระราชากำลังทรงช้างพระที่นั่งเสด็จเลียบพระนครพอดี ได้ทอดพระเนตรเห็นฤาษีแต่ไกลก็จำได้ จึงทรงดำริว่า

‘ฤาษีผู้นี้คงอยากจะมาอยู่ในสำนักเรา เราจะตัดหัวเสียก่อน ก่อนที่มันจะประกาศคุณที่เคยทำกับเราไว้’

ว่าแล้วก็หันไปรับสั่งกับราชบุรุษที่ตามเสด็จมาด้วยว่า

“พวกแกจงไปจับฤาษีนั้นมัดมือไพล่หลัง นำไปเฆี่ยนทุก 4 แยก แล้วตัดหัวมันเสียที่ตะแลงแกง แล้วเอาตัวเสียบหลาวไว้!”

ราชบุรุษเหล่านั้นรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว พากันไปมัดพระโพธิสัตว์ผู้ปราศจากความผิด เฆี่ยนไปทุก 4 แยก เตรียมจะนำไปสู่ตะแลงแกง

ฝ่ายฤาษีเมื่อถูกพระอาญาเช่นนั้นไม่ได้ร้องตีโพยตีพายเลย กล่าวแต่เพียงว่า

“มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ยกเอาท่อนไม้ขึ้นจากน้ำยังดีกว่าช่วยคนตกน้ำบางคนเสียอีก”

พวกราชบุรุษได้ยินเช่นนั้นพากันสงสัยว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังจึงถามฤาษี ฤาษีได้เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นให้ฟัง ราชบุรุษและชาวเมืองได้ฟังเรื่องราวแล้วพากันโกรธพระราชาว่าเป็นคน อกตัญญู ขืนให้ครองราชย์ต่อไปบ้านเมืองคงไม่เจริญ จึงพากันเข้าล้อมจับและฆ่าพระราชาเสีย ทิ้งศพไว้หลังคูเมืองแล้วอภิเษกฤาษีนั้นเป็นพระราชาแทน

เมื่อฤาษีได้ครองราชย์สมบัติแล้วก็พาไพร่พลไปยังที่อยู่ของงูและหนู ขนเอาทรัพย์ทั้งหมดมาไว้ในท้องพระคลัง ส่วนนกแขกเต้าจะไปคาบข้าวสาลีมาถวายแต่พระราชารับสั่งว่ายังไม่ต้อง แล้วชวนสัตว์ทั้งสามไปอยู่ในวังด้วย โปรดให้ทำทะนานทองพระราชทานเป็นที่อยู่ของงู ทำถ้ำแก้วผลึกเป็นที่อยู่ของหนู ให้ทำกรงทองเป็นที่อยู่ของนกแขกเต้า พระราชทานข้าวตอกคลุกน้ำผึ้งใส่จานทองให้งูและนกแขกเต้ากิน พระราชทานข้าวสารสาลีให้หนูกินทุกวัน

ส่วนพระองค์เองนั้นได้บำเพ็ญกุศล ทำบุญทำทานตลอดชีวิต

ข้อคิดจากชาดก :  สัจจังกิรชาดก
1.สัตว์เดรัจฉานบางตัวยังรู้คุณคนมากกว่าคนบางคนเสียอีก
2.ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี
3.คนกตัญญูอยู่ที่ไหนก็เจริญ
4.คนอกตัญญู ย่อมพบเจอกับความวิบัติ


ประชุมชาดก
พระราชาผู้อกตัญญู ได้เกิดเป็น พระเทวทัต
งู ได้เกิดเป็น พระสารีบุตร
หนู ได้เกิดเป็น พระโมคคัลลานะ
นกแขกเต้า ได้เกิดเป็น พระอานนท์
ฤาษีผู้ได้รับการอภิเษกเป็นพระราชา ได้เกิดเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นิทานชาดก สัจจังกิรชาดก พระราชา อกตัญญู