อลีนจิตตชาดก : ช้างเผือกกตัญญู จากรุ่นพ่อต่อรุ่นลูก

อลีนจิตตชาดก ช้างเผือก

เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงเล่า อลีนจิตตชาดก : ทรงเล่าเพื่อเป็นกำลังใจให้พระภิกษุรูปหนึ่งที่มีความย่อหย่อนในการทำความเพียร และอยากจะสึก

กาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี

มีหมู่บ้านช่างไม้อาศัยอยู่ไม่ไกลจากเมือง พวกเขามักจะล่องเรือไปตัดไม้ทางเหนือ เพื่อนำกลับมาสร้างบ้านขายให้กับชาวเมือง อยู่มาวันนึงขณะที่พวกเขากำลังช่วยกันตัดไม้อยู่ในป่า มีช้างป่าตัวนึงเหยียบตอต้นตะเคียนเข้า ตอไม้ได้แทงเข้าไปในเท้าช้าง มันเจ็บปวดมาก และเท้ามันบวมเป็นหนอง  ได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ไม่รู้จะทำยังไง 

เจ้าช้างได้ยินเสียงตัดไม้ของช่างไม้อยู่ไม่ไกล จึงตัดสินใจเดินเข้าไปหา แล้วหมอบลงใกล้ๆ

ช่างไม้เห็นช้างเท้าบวมก็เลยรีบเข้าไปดู 

“เห้ย นั่นนายไปเหยียบอะไรมา เท้าบวม เลือดโชกขนาดนี้ พวกเรา มาช่วยกันทำแผลให้เจ้าช้างนี่หน่อย”

ช่างไม้ทั้งหมดต่างก็รีบมาช่วยกันปฐมพยาบาลทันที  ด้วยการใช้มีดกรีดรอบตอไม้ ผูกเชือกแล้วช่วยกันดึงออกมา บีบหนองแล้วล้างด้วยน้ำอุ่น แล้วก็ใส่ยาทาแผล ไม่นานนักช้างก็หายเจ็บปวด เจ้าช้างคิดว่า

“เรารอดชีวิตมาได้ เพราะช่างไม้ ได้ช่วยเหลือเราไว้ เราควรจะอยู่ช่วยพวกเขาทำงานเพื่อเป็นการตอบแทน” 

ตั้งแต่นั้นมา เจ้าช้างตัวโตก็อยู่เป็นลูกมือช่างไม้ ช่วยลากซุงบ้าง ช่วยพลิกไม้บ้าง หยิบของส่งให้บ้าง  แต่ตอนนี้เจ้าช้างมันแก่มาก และทำงานหนักต่อไปไม่ไหว ก็เลยคิดว่า จะให้ลูกของมันมาอยู่รับใช้ช่างไม้แทนตัวเองต่อไป จึงเข้าป่าไปพาลูกช้างเผือกของตน มามอบให้กับเหล่าช่างไม้ และบอกกับช่างไม้ว่า

“นี่คือลูกช้างเผือกของเรา เราขอมอบลูกให้กับท่านเพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจที่ช่วยเหลือชีวิตเรา ตั้งแต่นี้ ลูกเผือกจะได้มาอยู่ช่วยท่านทำงาน เราก็แก่มากแล้วขอไปตามทางของเรา ขอให้ท่านจงเอ็นดูลูกของเราด้วยเถอะ”

 

แล้วหันไปสอนลูกว่า

“ช่างไม้เหล่านี้มีพระคุณกับพ่อมาก พวกเขาได้ช่วยเหลือชีวิตพ่อไว้ เจ้าจงอยู่ตอบแทนคุณของเขาแทนพ่อเถอะ”

“ได้ครับพ่อ พ่อไม่ต้องห่วง พ่อกลับไปอยู่กับแม่เถอะ ทางนี้ ผมจะดูแลเอง” 

เจ้าช้างเผือกน้อยตอบพ่อด้วยความมั่นใจ 

ลูกช้างป็นสัตว์ว่านอนสอนง่าย ช่วยการงานของพวกช่างไม้อย่างขยันขันแข็ง ฝ่ายช่างไม้ก็เอ็นดูลูกช้างน้อยด้วยความจริงใจ เมื่อลูกช้างน้อยทำงานเสร็จก็ลงไปเล่นน้ำในแม่น้ำกับเด็กๆ

แล้วก็ถ่ายมูลไว้ที่ตรงริมฝั่ง อยู่มาวันหนึ่งเกิดฝนตกหนัก ได้ชะเอามูลลูกช้างที่แห้งแล้วไหลไปยังท่าน้ำกรุงพาราณสี

วันนั้นคนเลี้ยงช้างหลวง ได้นำช้าง 500 เชือก ไปอาบน้ำที่ท่าน้ำพอดี แต่จะบังคับยังไงเจ้าช้างหลวงพวกนั้นก็ไม่ยอมลงไปที่ท่าน้ำ แทบจะวิ่งหนีซะด้วยซ้ำ คนเลี้ยงช้างจนปัญญาไม่รู้จะทำยังไง เลยต้องกลับไปปรึกษานายหัวหน้าควานช้าง นายหัวหน้าควานช้างมาดู ก็เป็นงงไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน  แต่ก็เดาเอาไว้ก่อน ว่าในน้ำมันต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากลแน่ๆ  จึงตรวจดูอย่างถ้วนถี่ แล้วก็เห็นเศษขี้ช้างเผือกติดอยู่ที่พุ่มไม้ ก็รู้ว่านี่เองที่เป็นสาเหตุทำให้ช้างทั้ง 500 เชือก ไม่กล้าลงน้ำ

นายหัวหน้าควานช้าง ก็เลยนำขี้ช้างเผือกก้อนนั้น มาขยำในถาดแล้วเทรดให้ทั่วตัวช้างทั้งหลาย  พอเป็นกลิ่นเดียวกัน ช้างเหล่านั้นก็เลยยอมลงอาบน้ำ  นายหัวหน้าควานช้างหลวงได้นำความไปกราบทูลพระราชา

“ขอเดชะ พระองค์ควรสืบหาช้างเผือกผู้เป็นเจ้าของขี้ช้างก้อนนั้นแล้วนำมาเลี้ยงไว้เองเถิดพระเจ้าข้า”

เมื่อสายสืบ มาแจ้งว่าช้างเผือกเชือกนั้นอยู่ที่ไหน พระราชาจึงเสด็จไปยังหมู่บ้านช่างไม้ด้วยตัวของพระองค์เอง  พวกช่างไม้ถวายการต้อนรับพระราชาแล้วกราบทูลว่า 

“ขอเดชะ หากพระองค์มีพระประสงค์จะได้ไม้ ก็เพียงแค่ส่งคนมาขนไป ไม่เห็นต้องเสด็จมาด้วยพระองค์เองเลย พระเจ้าข้า”

“เราไม่ได้มาเพราะอยากได้ไม้ แต่เราจะมาขอช้างเผือกเชือกนี้” 

“ขอเดชะ ถ้าอย่างั้น ได้โปรดให้จับไปเถิด พระเจ้าข้า”

“ไปอยู่ในวังกับเราเถอะเจ้าช้างเผือกเราจะดูแลเจ้าอย่างดี”

แต่เจ้าช้างไม่ยอมขยับเลย

“มีปัญหาอะไรหรือเปล่า พวกเจ้ารู้ไหมทำไมเจ้าช้างถึงไม่ยอมไปกับเรา” พระราชาถามช่างไม้

ช่างไม้รู้ใจเจ้าช้างเผือกน้อยเพราะอยู่ด้วยกันมานานจึงบอกพระราชาไปว่า 

“เจ้าช้างคงอยากจะให้พระองค์พระราชทานค่าเลี้ยงดูแก่ช่างไม้พระเจ้าข้า”

พระราชาไม่ขัดข้องวางเงินจำนวนมากลงที่เท้าช้างทั้ง 4 ข้าง 

และยังวางเงินอีกจำนวนหนึ่งไว้ที่งวงและที่หางของช้างเผือกด้วย

แต่ถึงขนาดนี้เจ้าช้างก็ยังไม่ไป

พระราชาจึงพระราชทานผ้าเนื้อดี แก่ช่างไม้ทุกคน แล้วก็ให้ภรรยาของพวกเขาด้วย …. เจ้าช้างก็ยังไม่ไป

จนกระทั่งพระราชาพระราชทานเบี้ยเลี้ยงให้กับเด็กที่เป็นเพื่อนเล่นของช้างอีกทั่วทุกคน ช้างเผือกน้อยจึงยอมตามเสด็จ  พระราชาดีพระทัยยิ่งนัก เมื่อกลับถึงพระนครแล้ว 

โปรดให้ตกแต่งเมืองและโรงช้างให้วิจิตรงดงามเป็นอย่างดี ประดับประดาช้างด้วยเครื่องประดับหลากหลาย นำเดินเวียนพระนคร 3 รอบ  แล้วพระราชทานราชสมบัติกึ่งหนึ่งแก่ช้าง  โปรดให้มีงานอภิเษกอย่างมโหฬาร  ได้พระราชทานตำแหน่งเป็นพระสหาย ร่วมสุขร่วมทุกข์ของพระองค์ ตั้งแต่ได้ช้างเผือกเชือกนี้มา พระเจ้าพาราณสี ก็มีพระบรมเดชานุภาพแผ่ไปทั่วชมพูทวีป

ต่อมาพระอัครมเหสีของพระองค์ได้ทรงพระครรภ์ พอจวนจะประสูติ  พระราชาก็สวรรคต พวกอำมาตย์ข้าราชบริพารได้ปกปิดเรื่องไม่ให้ช้างเผือกทราบ เพราะเกรงว่าช้างจะเสียใจถึงแก่ความตายตามไปด้วย ฝ่าย

พระเจ้าโกศลผู้ที่มีอาณาจักรใกล้เคียงกัน ได้ทราบข่าวการสวรรคตของพระเจ้าพาราณสี จึงยกทัพทัพเข้าล้อมกรุงพาราณสีไว้หวังจะยึดเป็นของตน ชาวพระนครได้พากันปิดประตูเมือง รักษาเมืองไว้อย่างเข้มแข็ง

แล้วส่งสารไปถวายพระเจ้าโกศลว่า

‘ขณะนี้ อัครมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวแห่งข้าพเจ้า ทรงพระครรภ์ จวนจะถึงกำหนดประสูติแล้ว โหรทำนายว่า จากนี้ไปอีก 7 วัน พระอัครมเหสี จักคลอดพระโอรส  ขอพระองค์ได้โปรดยุติการสงครามไว้ก่อนจนกว่าพระมเหสีจะประสูติ’

พระเจ้าโกศลทรงยินยอมทำตาม 

และเมื่อถึงวันที่ 7 พระอัครมเหสีก็ประสูติพระโอรสดังคำทำนาย

เหล่าทหารและไพร่ฟ้าประชาชนต่างพากันรื่นเริงยินดี มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับข้าศึก จึงได้ถวายพระนามพระราชกุมารว่า อลีนจิตราชกุมาร แล้วพากันออกไปต่อสู้ข้าศึก แต่ก็ได้พ่ายแพ้อย่างยับเยิน เพราะขาดผู้นำที่เข้มแข็ง พวกอำมาตย์ได้กราบทูลพระมเหสีว่า

“ข้าแต่พระแม่เจ้า กองทัพของเราพ่ายแพ้และสูญเสียกำลังพลมากมาย  ถ้าเป็นเช่นนี้พวกข้าพเจ้าเกรงว่าพวกเราจะแพ้สงครามเป็นแน่  ทางที่ดีพวกเราควรจะแจ้งเรื่องราวทั้งหมดให้พญาช้างทราบ

เพื่อจะได้ขออานุภาพช่วยปราบข้าศึกดีกว่าพะยะค่ะ”

“ก็ดีเหมือนกันท่านอำมาตย์” พระอัครมเหสีทรงเห็นชอบด้วย และรับสั่งให้ประดับองค์พระราชกุมารให้ประทับเหนือยี่ภู่ พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์เสด็จไปยังโรงพญาช้าง 

วางพระยี่ภู่ลงแทบเท้าพญาช้าง แล้วตรัสว่า

“ท่านพญามงคลหัตถี พระสหายของท่านสวรรคตเสียหลายวันแล้ว อิชั้นไม่กล้าแจ้งให้ท่านทราบ ด้วยเกรงท่านจะเสียใจถึงกับหัวใจแตกตาย พระราชกุมารนี้เป็นโอรสของพระสหายของท่าน

บัดนี้พระเจ้าโกศลได้ยกทัพมาล้อมพระนครไว้ อิชั้นมองไม่เห็นผู้ใด ขอท่านได้โปรดเมตตาพระโอรสของพระสหายของท่าน ให้เหมือนลูกของท่านเถอะ อย่าทิ้งให้เป็นอันตรายเลย”

เมื่อพญาช้างได้ฟังดังนั้นก็ยื่นงวงลงไปอุ้มพระราชกุมาร ขึ้นมาวางบนกระบอง แล้วปล่อยน้ำตาไหลพราก ลงมาอาบหน้า ด้วยความอาลัยในพระสหาย แล้ววางพระกุมารลงในพระกรของพระมเหสี พลางแผดเสียงขึ้นอย่างกึกก้อง และเผ่นโผนโจนทะยาน ออกจากโรงช้างทันที พวกอำมาตย์ได้เปิดประตูพระนครพร้อมกับยกทัพตามออกไป พอพ้นประตูเมืองแล้ว พญาช้างแผดเเสียงกึกก้องขึ้นอีกครั้ง ทำให้พวกทหารข้าศึกตกใจกลัว ไม่สามารถรักษาการตามหน้าที่ ต่างแผ่นหนีกันอลม่าน

ขณะเดียวกันพญาช้างก็ทำลายค่ายข้าศึกเข้าไปถึงข้างใน ตรงเข้าไปจับพระเจ้าโกศล แล้วพาตัวกลับเข้าไปในเมือง มาวางลงแทบพระบาทพระกุมาร ห้ามมิให้ใครทำอันตรายแก่พระเจ้าโกศล และให้ปฏิญาณตนยอมเป็นเมืองขึ้นแล้วปล่อยไป

ตั้งแต่นั้นมา ราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งหมดก็ตกอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์  ของพระโอรสพระเจ้ากรุงพาราณสี เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ 7 ชันษา  ก็ได้ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า อลีนจิตตราช  พระองค์ครองราชสมบัติโดยยุติธรรมด้วยความช่วยเหลือของพญาช้างตลอดพระชนชีพ 

 

ประชุมชาดก อลีนจิตตชาดก

พระมารดาของอลีนจิตตราชกุมาร ในครั้งนั้น ได้เกิดเป็น พระนางสิริมหามายา พระมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ

พระบิดาของอลีนจิตตราชกุมาร ในครั้งนั้น ได้เกิดเป็น พระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ

พญาช้างเผือกซึ่งช่วยให้ได้ราชสมบัติ ได้เกิดเป็นภิกษุผู้คลายความเพียรและอยากจะสึกรูปหนึ่ง 

พญาช้างที่โดนตอไม้ตำเท้า ได้เกิดเป็น พระสารีบุตร

ส่วน อลีนจิตตราชกุมาร ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าของเรานั่นเอง

 

อลีนจิตตชาดก ช้างเผือก